เขียนใน . โพสใน In The News.

ต้นไม้คลองหลอด"รอดแล้ว"ทหารทุบโต๊ะไม่ตัดต้นไม้เก่า

BBUnxXk

เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2562 ที่สำนักงานปลัดกลาโหม พล.ท.ภพอนันต์ เหลืองภานุวัฒน์ หัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการ ประจำรองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมเพื่อหารือการบริหารจัดการต้นไม้ริมคลองหลอด โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานครโดยสำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตพระนคร และสำนักที่เกี่ยวข้อง กรมศิลปากร กรมป่าไม้ การไฟฟ้านครหลวงและเครือข่ายต้นไม้ในเมือง ร่วมประชุม

น.ส.ช่อผกาวิริยานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายต้นไม้ในเมือง เปิดเผยว่า ทางเครือข่ายได้เข้าหารือกับท่านปลัดกระทรวงกลาโหมจากที่ทางกทม.และกลาโหมมีแนวทางที่จะปรับปรุงฟื้นอัตลักษณ์คลองหลอดโดยตัดต้นไม้ชนิดอื่นออกแล้วปลูกต้นขนุนเท่านั้น ซึ่งทางเครือข่ายฯขอให้มีการปรับปรุงคลองหลอดโดยคงต้นไม้เก่าแก่ในพื้นที่ไว้โดยหาแนวทางในการอนุรักษ์ต้นไม้เก่าแก่โดยไม่ทำลายสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งได้นำมาสู่การประชุมในวันนี้ โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปในการดำเนินการคือ จะไม่มีการตัดต้นไม้ใหญ่ริมคลองหลอด และมีแนวทางการบริหารจัดการต้นไม้ในพื้นที่โดยในระยะเร่งด่วนนี้ทั้งหน่วยงานราชการและภาคประชาชนจะร่วมเป็นทีมเดียวกันในการตัดแต่งต้นไม้ในเส้นทางเสด็จฯในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยใช้ศาสตร์รุกขกรรมเป็นโครงการต้นแบบ สร้างมิติใหม่มิติใหม่ในการดูแลต้นไม้ร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีอันสำคัญ โดยเครือข่ายได้ประสานกับนักวิชการ ผู้เชี่ยวชาญทั้งสมาคมรุกขกรรมไทย สมาคมภูมิสถาปนิก กลุ่มบิ๊กทรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น โดยจะเริ่มลงพื้นที่ดำเนินการในวันที่ 13 มี.ค.นี้ ทำการตัดแต่งกิ่งไม้และเตรียมตัดแต่งระบบรากเพื่อจำกัดการโตไม่ให้ต้นไม้สร้างผลกระทบต่อโครงสร้างสิ่งปลูกสร้าง สำหรับในระยะต่อไปก็จะมีการหาข้อสรุปถึงชนิดของต้นไม้ที่จะนำมาปลูกที่บริเวณริมคลองหลอด ซึ่งยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าจะเป็นต้นขนุนหรือต้นไม้ชนิดได้ซึ่งทางที่ประชุมผู้เกี่ยวข้องจะมีการพิจารณาร่วมกัน

น.ส.ช่อผกา กล่าวต่อด้วย ทั้งนี้ในการประชุมครั้งทางกระทรวงกลาโหมยังได้รับเป็นเจ้าภาพดูแลต้นตะเคียนเก่าแก่ที่อยู่บริเวณหน้าวัดราชบพิธ ซึ่งถือเป็นต้นตะเคียนที่มีอายุมากที่สุดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นต้นที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากศ.เดชา บุญค้ำ ซึ่งจะมีการฟื้นที่ฟูโดยใช้เทคโนโลยีต่างประเทศพร้อมทั้งเปลี่ยนวัสดุปูทับบนราก เพื่อรักษาสุขภาพของต้นไม้เก่าดั้งเดิมให้กลับมามีความสวยงามมีสุขภาพที่ดีขึ้น.