• หน้าแรก
  • บทความ
  • “พูดจาภาษาต้นไม้” เมื่อนักนิเวศวิทยาไปฟังต้นไม้คุยกันและมาถ่ายทอดเป็นบทเรียนให้คนได้รับรู้ด้วย

“พูดจาภาษาต้นไม้” เมื่อนักนิเวศวิทยาไปฟังต้นไม้คุยกันและมาถ่ายทอดเป็นบทเรียนให้คนได้รับรู้ด้วย

“Tree talks to each other : 'Mother Tree' Ecologist hears lessons for people, Too” :: “พูดจาภาษาต้นไม้” เมื่อนักนิเวศวิทยาไปฟังต้นไม้คุยกันและมาถ่ายทอดเป็นบทเรียนให้คนได้รับรู้ด้วย

**ขอขอบพระคุณ คุณจิราภรณ์ มีวาสนา หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มากๆค่ะ ที่ช่วยเรียบเรียง จาก https://www.npr.org/sections/health-shots/2021/05/04/993430007/trees-talk-to-each-other-mother-tree-ecologist-hears-lessons-for-people-too?ft=nprml&f=1001

เรื่องยาวแต่เล่าให้สั้น วันนี้ เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของนักนิเวศวิทยาป่าไม้หญิงคนหนึ่งที่เติบโตมาในครอบครัวของคนทำไม้ตั้งแต่รุ่นปู่ จนถึงพ่อและลุง และแม้แต่ตัวเธอ ที่เริ่มการทำงานครั้งแรกในบริษัททำไม้ของเมือง และเธอได้สังเกตเห็นพฤติกรรมที่น่าประหลาดใจของต้นไม้ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ไปจนถึงเรื่องการค้นพบการสื่อสารกันของต้นไม้โดยบังเอิญ ในขณะที่เธอกำลังรักษาตัวจากโรคมะเร็งทรวงอก จนทำให้เธอได้ค้นพบความสัมพันธ์ของต้นไม้ใหญ่กับเพื่อนบ้านรอบตัว และเป็นที่มาที่ทำให้นักนิเวศวิทยาป่าไม้ท่านนี้ Prof. Dr. Suzanne Simard เขียนหนังสือเรื่อง Finding the Mother Tree: Discovering the Wisdom of the Forest ในที่นี้ จึงอยากถ่ายทอดแก่นของงานเขียนเรื่องนี้ของเธอ พอที่จะทำให้เราเห็นภาพว่า เหตุใด Dr. Simard จึงเชื่อว่า ต้นไม้เป็นสัตว์สังคม เหล่าต้นไม้และเห็ดรามีการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน และพวกมันทำไปเพื่ออะไร และผลที่เกิดขึ้นบางอย่างได้ให้ประโยชน์อะไรต่อมนุษย์

Dr. Simard เติบโตจากบ้านที่อยู่ท่ามกลางป่าในประเทศแคนาดา ครอบครัวที่มีอาชีพทำไม้มาแต่ดั้งเดิม และ เธอเองก็เช่นกัน ในวัยยี่สิบกว่า เธอเริ่มงานแรกของเธอที่บริษัททำไม้แห่งหนึ่งในเมือง British Columbia ก่อนจะมาเป็นนักนิเวศวิทยาป่าไม้หลังจากนั้น จวบจนปัจจุบันในตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาป่าไม้แห่งมหาวิทยาลัย British Columbia ในขณะที่เธอทำงานในบริษัททำไม้นั้น เธอบอกว่า มีการทำไม้แบบที่เรียกว่า clear-cutting คือ วิธีการตัดต้นไม้ทุกต้นออกทั้งหมดไม่ว่าต้นจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ และจะมีการปลูกทดแทนขึ้นหลังจากนั้น วิธีการเช่นนี้ ทำเอาเธอถึงกับตกใจและรู้สึกสะเทือนใจ การตัดแบบนี้ ต่างไปจากสมัยที่ปู่และพ่อของเธอที่จะทำการตัดเฉพาะต้นไม้ที่ทำการคัดเลือกไว้ ความรู้สึกไม่สบายใจของเธออาจมาจากพื้นฐานความเป็นนักนิเวศวิทยาป่าไม้ จึงทำให้เธอตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในป่าที่มีสายใยความสัมพันธ์ระหว่างกัน ต้นไม้แต่ละต้นต่างเชื่อมโยงกันผ่านเส้นใยของเห็ดราใต้ดินที่สานพันกันราวกับเครือข่ายเส้นประสาทในสมองของมนุษย์

Dr. Simard ได้หยิบยกตัวอย่างหลายกรณีที่มาจากการสังเกตและทำการทดลองวิจัย เพื่อเป็นหลักฐานแสดงถึงความสัมพันธ์เช่นว่านั้นในระบบนิเวศหนึ่งหนึ่ง อย่างในกรณีเรื่องของความเข้าใจของเจ้าหน้าที่สวนป่าที่มีต่อต้น
Birch ว่า พวกมันเป็นวัชพืชที่แก่งแย่งแสงของต้น Douglas Fur จึงต้องกำจัดทิ้งไม่ว่าจะด้วยวิธีตัดหรือใช้สารกำจัดใดใดก็ตาม แต่เธอสังเกตว่า เมื่อใดก็ตามที่ต้น Birch ถูกกำจัด ก็จะพบว่า มีการระบาดอย่างรวดเร็วของโรค Armillaria ที่รากของต้นไม้ไปทั่วทั้งสวนป่า Dr. Simard ตั้งสมมติฐานว่า อาจมีความเข้าใจผิดอะไรบางอย่างต่อต้น Birch หรือไม่ และถ้าใช่ การตัดสินใจกำจัด Birch บนพื้นฐานของการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกันของต้นไม้กับเห็ดราใต้ดิน อาจกลายเป็นการสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงในที่สุด เธอจึงตัดสินใจทำการค้นคว้างานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต ที่เรียกว่า Symbiosis หรือ Mutualism และเริ่มทำการศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้เธอค้นพบว่า ต้นไม้บางชนิดมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดและมีรูปแบบเฉพาะกับเห็ดราบางชนิด ในลักษณะของการอยู่ด้วยกันแบบพึ่งพาอาศัยได้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ต้น Birch และต้น Douglas Fur ต่างอาศัยเห็ดรากลุ่ม mycorrhizal fungi ในการแบ่งปันคาร์บอนแก่กัน การวิจัยพบว่า ยิ่งต้น Birch เติบโตสร้างร่มเงาแก่ต้น Douglas Fir มากเท่าใด ก็จะพบว่า Birch มีการส่งต่อคาร์บอนผ่านเห็ดรา กลุ่ม mycorrhiza ให้แก่ Douglas Fir มากขึ้นเท่านั้น ทำให้เรารู้ว่า ต้นไม้สองชนิดนี้ต่างมีการชดเชยผลกระทบจากการแก่งแย่งแสงระหว่างกัน ด้วยการที่ต้น Birch ส่งคาร์บอนให้แก่ Douglas Fir ที่สังเคราะห์แสงสร้างอาหารได้น้อยลง จากการถูก Birch บดบังแสง ในขณะเดียวกัน เห็ดราซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถสังเคราะห์แสงสร้างอาหารเองได้ ก็ได้ธาตุอาหารจากการย่อยสลายของส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้นั่นเอง อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่น่าสนใจว่า จากการทดลองกับต้น Cedar ในคราวเดียวกัน กลับไม่พบว่า มีการส่งคาร์บอนต่อให้กับต้น Cedar จากการศึกษาต่อมา พบว่าต้น Cedar ต้องการเห็ดราชนิดที่มีความเฉพาะต่างออกไปจากชนิดที่สร้างความสัมพันธ์กับต้น Birch และต้น Douglas Fir และ Dr. Simard ยังพบว่า ต้น Douglas Fir ต้นหนึ่ง ที่กำลังถูกแมลงทำลาย ได้ผลิตสารบางอย่างส่งเป็นสัญญาณเตือนไปให้แก่ต้น Panderosa ที่อยู่ใกล้ ทำให้ต้น Panderosa ผลิตเอนไซม์ชนิดหนึ่งออกมาเพื่อป้องกันตัวเอง

ในช่วงชีวิตหนึ่งของเธอ Dr. Simard ต้องเข้ารับการรักษาด้วยยาคีโม อันเนื่องมาจากโรคมะเร็งทรวงอก ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเธอศึกษาสารในยาคีโมที่เธอได้รับ กลับพบว่า มีสารสำคัญตัวหนึ่งที่ชื่อ Paclitaxel หรืออีกชื่อว่า Taxol. สาร Paclitaxel เป็นสารเคมีที่ช่วยต่อสู้กับโรคมะเร็ง ซึ่งพบในสนแปซิฟิค (Pacific Yew Tree) และสนกลุ่ม Yew ทั่วโลก ซึ่งสนกลุ่มนี้ผลิตสารเคมีดังกล่าวก็เพื่อป้องกันตนเองในการต่อสู้กับโรคต่าง ๆ เช่นกัน ทำให้ Dr. Simard สนใจทำการศึกษาต่อไปเพื่อหาความสัมพันธ์ในระบบนิเวศระหว่างสนกลุ่ม Yew กับต้นซีดาร์และต้นเมเปิลที่มีอายุมาก บนสมมติฐานที่ว่า การอยู่ในระบบนิเวศร่วมกันของต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ที่อาจมีอิทธิพลต่อความสามารถในการผลิตสาร Taxol ที่มีคุณภาพสูง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการต่อสู้ป้องกันโรค

Dr. Simard จึงสนใจที่จะค้นหาว่า ต้นไม้ทั้งหลายนั้นมีการเคลื่อนย้ายถ่ายเทคาร์บอนที่เก็บไว้ในเนื้อเยื่ออย่างไร เธอจึงทำการทดลองกับต้นไม้จำนวนหนึ่ง โดยใช้คาร์บอนที่มีไอโซโทปแตกต่างกัน จากผลการทดลองพบว่า ประมาณ 40% ของคาร์บอน ถูกส่งผ่านเครือข่ายใต้ดินระหว่างต้นไม้ด้วยกัน ส่วนคาร์บอนที่เหลือจะกระจายผ่านกระบวนการย่อยสลายทางธรรมชาติ และบางส่วนจะส่งต่อให้กล้าไม้น้อยใหญ่ข้างเคียง ด้วยวิธีการทั้งหลายที่ต้นไม้ใหญ่และเห็ดราสานใยสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างกัน จึงทำให้ต้นไม้ใหญ่ต่างๆ ทั้งขณะดำรงชีวิตเติบโตอยู่หรือแม้แต่จะตายลง ก็มีอิทธิพลต่อการเติบโตของต้นไม้โดยรอบเคียง รวมถึงความสามารถในการขยายสืบต่อพันธุ์ของเห็ดรา กล้าไม้ และป่ารุ่นต่อไปอีกด้วย ดังนั้น กิจกรรมการตัดไม้ในพื้นที่ใดใดออกพร้อม ๆ กัน ในจำนวนมาก ก็เปรียบเหมือนการทำให้เกิดการตัดวงจรของกระบวนการสื่อสารส่งข่าวระหว่างกัน เป็นการลดโอกาสของการส่งต่อถ่ายเทพลังงานไปสู่ต้นไม้และกล้าไม้รุ่นที่จะเจริญเติบโตต่อไป

Dr. Simard จึงเปรียบต้นไม้ใหญ่ทั้งหลายว่าเป็นดั่ง Mother Tree หรือ Hub Tree อันแสดงให้เห็นถึงภาพการทำหน้าที่ของต้นไม้ใหญ่ในระบบที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมสายใยเครือข่ายของสรรพชีวิตในระบบนิเวศป่านั้นนั้น ผ่านการแลกเปลี่ยนสื่อสารพูดจากันระหว่างเหล่าต้นไม้และเห็ดราที่เกิดขึ้นในโลกใต้ดินอันแสนมหัศจรรย์

Credit และอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.npr.org/2020/06/26/882828756/suzanne-simard-how-do-trees-collaborate

  • ฮิต: 3554

 ติดต่อรักษ์ไม้ใหญ่ วิสาหกิจเพื่อสังคม

BIGTree Network : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. / ติดต่อทีมงานทางกล่องข้อความ http://www.facebook.com/BIGTreesProject/inbox

ติดต่อรุกขกร วิสาหกิจเพื่อสังคม
Tree Care Service : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. / โทร 02-004-1642 หรือ 083-024-4053