โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ (งานรุกขกรรมขั้นต้น) รุ่นที่ 3
กับการรวมพลกลุ่มคนหัวใจสีเขียวซึ่งตั้งใจอยากเรียนรู้ถึงวิธีการดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมืองอย่างถูกวิธี ตั้งแต่การสังเกตอาการป่วยของต้นไม้ กิ่งก้านที่ต้องตัดออก เพื่อให้รูปทรงสวยงาม และเหมาะสมตามธรรมชาติ โดย ศ.กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ มาร่วมถ่ายทอดความรู้ในการดูแลต้นไม้ใหญ่
และความรู้พื้นฐานในงานรุกขกรรมในภาคทฤษฎี โดยทีมวิทยากรซึ่งเป็นรุกขกรมืออาชีพมาร่วมสอนตั้งแต่การผูกเงื่อน การอุปกรณ์ต่างๆและวิธีการใช้ เครื่องไม้เครื่องมือของมีคมซึ่งต้องใช้อย่างถูกวิธี และปลอดภัย รวมไปถึงการปปีน และเทคนิกต่างๆในภาคปฏิบัติ เพื่อต้อนรับรุกขกรหน้าใหม่ และส่งกระจายกำลังพลพรรคหัวใจสีเขียวไปช่วยกันดูแลต้นไม้ใหญ่ที่ป่วยให้กลับมาแข็งแรง และมีสุขภาพดีขึ้นอีกครั้ง
ตัวแทนผู้เข้าอบรมโครงการอบรมพนักงานรุกขกรรมขั้นต้น รุ่น 3 จะมาบอกเล่าประสบการณ์ และความทรงจำประทับใจตลอดการอบรมในครั้งนี้
คุณวิภานนท์ แซ่สิม นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม
BIGTREE: งานที่รับผิดชอบดูแลในปัจจุบัน
วิภานนท์: หญิงทำงานในส่วนของสวนสาธารณะ ดูแลรับผิดชอบงานในสวนลุมพินี ก่อนหน้านี้ทาง กทม. ได้มีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่เรื่องการตัดแต่งต้นไม้ และการดูแลต้นไม้ แต่จะเน้นการเรียนรู้เรื่องทฤษฎีมากกว่า ตอนนั้นเราเรียกคนดูแลต้นไม้ว่า “Tree worker”จนกระทั้งมาได้ยินคำว่า “รุกขกร” จากทางเครือข่ายต้นไม้ในเมือง และกลุ่มบิ๊กทรีส์ (BIGTrees Project) ตอนแรกก็ยังสับสนว่าสองคำนี้ต่างกันยังไง เพราะเราเองก็มีหน่วยงานตัดแต่งต้นไม้ และศัลยกรรมต้นไม้โดยเฉพาะ พอได้มาอบรมจึงมีความเข้าใจมากขึ้น และคิดว่าตรงนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่หน่วยงานหลายภาคส่วนจะก้าวไปด้วยกัน พัฒนาไปด้วยกันในเรื่องการดูแลต้นไม้ใหญ่อย่างถูกวิธี
BIGTREE: ความรู้ที่ได้จะส่งต่อให้คนรอบข้าง
วิภานนท์: ตอนนี้ทาง กทม. เครือข่ายต้นไม้ในเมือง และกลุ่มบิ๊กทรีส์ (BIGTrees Project) กำลังหารือและร่วมมือกันพัฒนาเจ้าหน้าที่ของ กทม. รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานของหน่วยงานภาคอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการดูแลต้นไม้ใหญ่ โดยจะได้การอบรมกับวิทยากรผู้เป็นรุกขกรมือาชีพโดยตรง หลังจากอบรมแล้ว หากได้รับการฝึกฝนมากขึ้น ผู้ปฏิบัติงานก็จะมีความชำนาญในการใช้อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ รวมถึงทักษะในการปีน เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย นอกจากผู้ปฏิบัติงานแล้ว เจ้าหน้าที่ระดับก็จำเป็นต้องมีความรู้ และมีความเข้าใจในเรื่องการตัดต้นไม้อย่างถูกวิธีด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้สามารถสั่งการ และตรวจทานความถูกต้องได้ ในส่วนของตัวหญิงเองก็จะคอยสนับสนุนในส่วนที่เรารับผิดชอบอย่างเต็มที่ และก็จะนำความรู้ที่ได้อบรมมาส่งต่อให้กับทีมงาน และคนรอบข้างด้วย
BIGTREE: ประสบการณ์และความประทับใจในช่วงเวลาที่ได้เข้าอบรมฯ
วิภานนท์: การมาอบรมในครั้งนี้ หญิงคิดว่าได้ประโยชน์มากๆ โดยเฉพาะเรื่องเงื่อน แม้จะเคยเรียนมาบ้างเมื่อยังเด็ก แต่ก็ลืมไปหมดแล้วจริงๆ พอได้กลับมาเรียนอีกครั้งก็ทำให้รู้ว่า เงื่อนแต่ละชนิดมันมีประโยชน์ต่างกันยังไง และมันสำคัญมากกับการใช้ในงานการปีนต้นไม้ นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ถึงวิธีการใช้อุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆด้วย จริงๆแล้วก่อนหน้านี้หญิงปีนต้นไม้ไม่ได้เลย และไม่คิดว่าจะปีนได้ แต่พอได้มาอบรม และมีการปฏิบัติจริง ตอนแรกก็คิดลังเลว่า เราจะปีนได้จริงๆเหรอ ปรากฏว่าเราก็ทำได้ เป็นการอบรมที่ได้ลงมือทุกขั้นตอน ได้รู้เทคนิกต่างๆ เลยยิ่งรู้สึกมั่นใจ และเข้าใจมากขึ้น
คุณเอกวัตร อกรณีย์ นักศึกษา
BIGTREE: ทำความรู้จักกับอาชีพ รุกขกร
เอกวัตร: ก่อนหน้านี้ผมทำงานอีเว้นท์ วันหนึ่งรุ่นพี่ให้ผมมาช่วยจัดอาหารในงานอบรมรุกขกรตามมาตราฐานสากลที่สวนลุมพินี เป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสเห็นวิธีการปีนขึ้นตัดต้นไม้อย่างถูกวิธี เพราะมีการใช้อุปกรณ์ในการปีน มีเครื่องมือในการตัด มีการผูกเงื่อน และมีเทคนิกต่างๆ ตอนนั้นผมยังไม่รู้จักอาชีพรุกขกรเลย พอได้เข้าไปดู และสอบถามพี่ๆทีมงานก็ทำให้รู้ว่า การทำงานของรุกขกรนั้นเป็นงานตัดแต่งต้นไม้ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย จึงต้องมีทั้งอุปกรณ์ช่วยปีน และมีการทำงานเป็นทีมด้วย
BIGTREE: หลังจากรู้จัก จึงเกิดความรู้สึกอยากเรียนรู้มากขึ้น
เอกวัตร: ผมสนใจเรื่องการปีนมาก และส่วนตัวเป็นคนชอบเรื่องต้นไม้อยู่แล้ว จึงสมัครเข้ามาอบรมกับพี่ๆ พอได้มาฟังอาจารย์เดชา บุญค้ำมาบรรยายให้ความรู้ด้วย ก็ยิ่งเข้าใจว่า การตัด
ต้นไม้แบบผิดวิธี จะทำให้ต้นไม้ยิ่งป่วย ต่อไปก็จะดูแลยากขึ้น เพราะเราตัดผิดวิธีไปแล้ว ก็เลยมาคิดว่า ถ้าเรารู้วิธี เข้าใจการตัดต้นไม้อย่างถูกต้อง การดูแลต้นไม้ก็จะง่ายขึ้นไปด้วย
BIGTREE: จุดเปลี่ยนจากงานอีเว้นท์ สู่การเป็นรุกขกร
เอกวัตร: ผมเปิดใจเลยครับ เพราะชอบ และสนใจเรื่องการปีน และเรื่องต้นไม้อยู่แล้ว ถ้าผมสนุกกับงาน ผมจะทำงานได้เต็มที่ และมีความสุข เพราะผมพร้อมที่จะเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง แม้ว่าค่าตอบแทนของงานอีเว้นท์จะสูงกว่า แต่ผมรู้สึกชอบงานนี้จริงๆ ใจมันมาแล้วครับ ที่เหลือก็คือ เรียนรู้ให้เต็มที่ ตั้งใจให้เต็มที่
BIGTREE: ประสบการณ์และความประทับใจในช่วงเวลาที่ได้เข้าอบรมฯ
เอกวัตร: ผมประทับใจมากครับ เป็นการอบรมที่ได้ปฏิบัติจริง ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เพราะได้ลงมือด้วยตัวเองทุกขั้นตอน และได้เรียนรู้เทคนิกต่างๆ สิ่งที่พี่ๆวิทยากรเน้นย้ำคือ ความปลอดภัย
ในการทำงานบนที่สูง อุปกรณ์จึงมีส่วนช่วยในเรื่องความปลอดภัย และการทำงานบนต้นไม้ให้สะดวกมากขึ้น ส่วนเรื่องอื่นๆคงต้องอาศัยประสบการณ์ด้วยครับ ทั้งทรงต้นไม้ สถานที่ในการทำงานซึ่งอาจมีข้อจำกัดต่างกันออกไป ผมคงต้องใช้เวลาฝึกฝนให้มากขึ้นครับ
BIGTREE: คำแนะนำสำหรับผู้สนใจอยากเข้ามาอบรมในรุ่นต่อไป
เอกวัตร: ถ้าเป็นไปได้ ผมแนะนำว่าควรมีความรู้พื้นฐานเรืองต้นไม้ใหญ่ เช่น ประเภทต้นไม้ ลักษณะรูปทรงต้นไม้ ลองหาข้อมูลมาอ่านเตรียมความพร้อมไว้ก่อนเลย ส่วนภาคปฏิบัติควรเตรียมความพร้อมเรื่องร่างกายให้แข็งแรง พร้อมกับการปีนต้นไม้ครับ จริงๆแล้วผมว่าการอบรมนี้ ทุกคนที่สนใจสามารถสมัครเข้ามาเรียนรู้ได้ครับ ผู้หญิงก็สามารถเรียนได้ พอเรารู้เรื่องทฤษฎีแล้ว เราไม่จำเป็นต้องปีนก็ได้ แต่เราสามารถช่วยดูเรื่องตำแหน่งการตัดแต่งต้นไม้ที่ถูกวิธีได้ครับ
คุณจักรชัย กุลวงษ์ คนสวน โรงเรียนรุ่งอรุณ
BIGTREE: งานที่รับผิดชอบดูแลในปัจจุบัน
จักรชัย: ผมเป็นคนสวนดูแลต้นไม้ที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งมีพื้นที่ราว 50 ไร่ มีต้นไม้ใหญ่อยู่เยอะมาก เช่น นนทรี ประดู่ จามจุรี แคนา ฯลฯ งานที่ผมรับผิดชอบจึงเป็นการดูแลตัดแต่งต้นไม้ทั้งหมดในโรงเรียน
BIGTREE: ทำความรู้จักกับอาชีพรุกขกร
จักรชัย: เมื่อก่อนผมไม่รู้เลยว่า รุกขกรคืออะไร ตอนนั้นผมก็แปลตามความเข้าใจของตัวเองว่า รุกข แปลว่า เทวดา รุกขกร ก็คือ เทวดาประจำต้นไม้ ผมก็เข้าใจประมาณนี้ ก็มารู้ตอนหลังว่าเราเข้าใจผิดเพี้ยนไปเลย รุกขกร ก็คือคนที่ดูแลตัดแต่งต้นไม้ แต่เขาทำงานด้วยความปลอดภัย และมีอุปกรณ์ และเทคนิกต่างๆเยอะมาก
BIGTREE: ถ้าไม่ได้มาอบรม ก็คงไม่รู้ว่าตัดแต่งต้นไม้ผิดวิธีมาตลอด
จักรชัย: การทำงานตัดแต่งต้นไม้ของผมเมื่อก่อน ยอมรับว่า วิธีการตัดมันผิดไปหมด เริ่มตั้งแต่การปีนเลย เป็นการปีนตัวเปล่าที่ใช้ความสามารถล้วนๆ ไม่มีอุปกรณ์ หรือตัวช่วยอะไร จะมีก็แค่เชือกไว้ไต่ลงมา และสำหรับส่งอุปกรณ์ขึ้นไป วิธีการตัดผมก็ไม่มีหลักการอะไร คือพอผมปีนขึ้นไปแล้ว กิ่งไหนใกล้ก็ตัดเลย สะดวกตรงไหนก็ตัดเลย พอได้มาอบรมจึงรู้ว่า ผมตัดต้นไม้ผิดวิธีมาตลอด และปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผมตัดผิดวิธีคือ ต้นไม้มันไม่ได้ตายเฉพาะกิ่งที่ผมตัด แต่มันจะรามทำให้ต้นไม้ตายไปเรื่อยๆ ส่วนกิ่งที่ไม่ตาย ก็แตกกิ่งแบบบ้าคลั่ง ทำให้ต้องขึ้นตัดตลอด ต้องทำงานซ้ำซ้อน นอกจากนี้ยังเจอปัญหาต้นไม้ฉีก พอมันฉีกปุ๊บ ต้นไม้ก็หุ้มตัวช้ามาก ตอนนั้นก็พอเห็นปัญหา ก็ยังไม่รู้ว่าจะแก้ไขยังไง ผมก็ยังทำแบบเดิมๆต่อไป จนสุขภาพต้นไม้แย่ลง
BIGTREE: ประสบการณ์และความประทับใจในช่วงเวลาที่ได้เข้าอบรมฯ
จักรชัย: ผมเรียนจบทางด้านพืชศาสตร์มา จึงพอมีความเข้าใจเรื่องต้นไม้ แต่ไม่มีความรู้เรื่องการตัดแต่งเลย พอได้มาอบรมจึงรู้ว่า ที่ผ่านมาเราเข้าใจผิดมาตลอด ตอนนี้ถ้าจะกลับไปแก้ ก็งานใหญ่เลย ต้นไม้หลายต้นต้องได้รับการเยียวยาเยอะมาก ผมคิดว่าคอร์สการอบรมนี้รวบรวมเนื้อหาได้ชัดเจนมาก โดยเฉพาะภาคปฏิบัติ คือมีรุกขกรมืออาชีพมาสอนจริงจัง ให้ความรู้เต็มที่ มีเทคนิกใหม่ๆมาให้ปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาในทุกสถานการณ์ เพราะเราไม่รู้ว่าหน้างานจะเจอกับปัญหาอะไร ที่เหลือคือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และการฝึกใช้อุปกรณ์ให้คล่องครับ
BIGTREE: คำแนะนำสำหรับผู้สนใจอยากเข้ามาอบรมในรุ่นต่อไป
จักรชัย: ผมคิดว่าสิ่งแรกคือความสนใจ เมื่อใจพร้อม มีความตั้งใจ เปิดใจรับคุณก็จะได้ความรู้ กลับไป 100% และร่างกายที่ต้องพร้อมสำหรับการอบรมภาคปฏิบัติด้วย
คุณสมนึก เขยกลาง พนักงานอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
BIGTREE: งานที่รับผิดชอบดูแลในปัจจุบัน
สมนึก: งานที่ทำผมคือดูทุกอย่าง ถ้าเป็นงานตัดแต่งต้นไม้ ผมจะดูแลทาง Subcontract ให้เขาลงมือทำ เพราะต้นไม้ที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตเยอะมาก เท่าที่ผมเคยสำรวจมาคือ มีต้นไม้ใหญ่ 80 กว่าชนิด พอได้มาอบรมกับทีมรุกขกรจึงรู้ว่า ผมอยู่มา 23 ปี วิธีตัดต้นไม้ที่ผมทำผิดมาตลอด เวลาขึ้นไปตัดก็ตัดอย่างเดียว เราขึ้นรถกระเช้าใกล้ตรงไหน ก็ตัดเลย พอตัดผิด มันแตกผิดๆ ขึ้นไม่สวย ตัดแล้วตัดอีก ตัดเหมือนเดิม ผิดเหมือนเดิม
BIGTREE: ประสบการณ์และความประทับใจในช่วงเวลาที่ได้เข้าอบรมฯ
สมนึก: เป็นการอบรมที่ดีมากนะ ได้ความรู้ดีมาก ตอนไปฟังบรรยายของอาจารย์เดชา บุญค้ำ ผมว่าสุดยอดเลย ดีมาก ได้ความรู้ได้ความเข้าใจเรื่องการตัดต้นไม้อย่างไรให้ถูกวิธี ส่วนเรื่องการปฏิบัติผมก็ชอบมาก เพราะว่าทีมวิทยากรเขาสอนดีมาก และตั้งใจมาก บอกเทคนิกต่างๆเยอะเลยแต่ถ้าให้ผมแนะนำ ผมอยากให้เพิ่มเวลาในช่วงภาคปฏิบัติให้มากขึ้นกว่านี้อีกหน่อย ผมตั้งใจว่าการอบรมรุ่นต่อไป ผมก็อยากจะมาขอฝึกด้วยอีกครั้ง
เรื่อง มัลลิกา แสนทอง
ภาพ ฐิติเกตุ แสนทอง
- ฮิต: 2934