การคืนชีพต้นไม้ในเมืองนครฯ ที่รุกขกรต้องการสื่อว่า ต้นไม้ใหญ่ไม่เป็นอันตราย หากเราดูแลอย่างถูกวิธี
ท่ามกลางความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพายุปาบึก สิ่งที่ต้องการการฟื้นฟูไม่ใช่เพียงผู้คนและสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น แต่ต้นไม้ก็ต้องการความช่วยเหลือเช่นกัน
“พายุครั้งนี้ทำให้ต้นไม้ใหญ่ล้มเยอะมาก หลายต้นก็ล้มไปทับบ้าน ชาวบ้านก็ไปร้องทุกข์ขอให้เทศบาลมาโค่นให้หมด เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งผมคิดว่าถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ อีกไม่นานต้นไม้ใหญ่ในเมืองนครฯ จะหายหมด” นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช หรือที่หลายคนรู้จักในฐานะผู้ก่อตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ผู้เป็นชาวนครศรีธรรมราชโดยกำเนิด บอกเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
เมื่อต้นไม้ใหญ่กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของชาวบ้าน คุณหมอผู้รักต้นไม้จึงไม่อาจนิ่งเฉย และรีบประสานไปยังกลุ่ม Big Trees ซึ่งก็ประสานต่อไปยังบริษัท รุกขกร จำกัด เพื่อชวนยกทีมลงมาช่วยเหลือต้นไม้กัน
และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการครั้งแรกและครั้งสำคัญของเมืองนครศรีธรรมราช ที่หน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน เอ็นจีโอ และคนพื้นที่ มาร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูต้นไม้ใหญ่-การฟื้นฟูที่ไม่ใช่แค่รักษาต้นไม้ที่เสียหายจากพายุ แต่รวมถึงการป้องกันการหักล้มในอนาคตด้วย
ต้นไม้ใหญ่ไม่เป็นอันตราย หากเราดูแลอย่างถูกวิธี
ประโยคข้างต้นคือหัวใจสำคัญของปฏิบัติการในครั้งนี้ที่ทีมรุกขกรอยากสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจมากที่สุด
“ยกตัวอย่างเช่นต้นตะเคียนใหญ่ที่ล้ม พอเราไปดูก็พบว่ามีเหตุให้ล้ม คือรากฝั่งหนึ่งถูกตัดเพื่อสร้างตึก ส่วนอีกฝั่งก็ถูกตัดเพื่อสร้างถนน” คุณหมอบัญชาเล่าให้เราเห็นภาพ ซึ่งไม่ใช่แค่ต้นนี้ต้นเดียว แต่รวมถึงอีกหลายต้นทั่วเมือง
“สาเหตุหลักๆ ที่ต้นไม้ล้มคือ หนึ่ง ระบบรากไม่แข็งแรง เช่น รากถูกตัด หรือถูกล้อมในที่แคบๆ อย่างต้นไม้ที่ปลูกในกระบะปูน ทำให้รากขยายไม่ได้ ขดวนอยู่ในนั้น มันก็รับน้ำหนักไม่ได้ ลมพัดแรงๆ ก็ล้ม สอง ทรงพุ่มทึบเกินไป ทำให้ต้านลม สาม ต้นเอียง รากลอย อาจเกิดจากฝั่งหนึ่งถูกบังแสง ทำให้ต้นต้องโน้มไปอีกฝั่ง ก็เสี่ยงที่จะล้ม” ฟาง-ชนัตฎา ดำเงิน หนึ่งในทีมรุกขกร อธิบายถึงปัญหาหลัก
วิธีการแก้ที่ถูกต้องจึงไม่ใช่การโค่นทิ้ง แต่ต้องดูแลรักษาอย่างถูกวิธี เริ่มตั้งแต่ระบบราก โดยบำรุงรากให้แข็งแรง มีพื้นที่เพียงพอ ไม่มีน้ำขัง ไปจนถึงการตัดแต่งทรงพุ่มไม่ให้รับน้ำหนักมากเกินไป ตัดกิ่งแห้ง กิ่งผุ กิ่งที่ยาวเกินไปและต้านลม ทำแผลที่เกิดจากกิ่งหัก เพื่อป้องกันไม่ให้ผุและปลวกกิน
“การเป็นรุกขกร หลายคนคิดว่าก็แค่ตัดแต่ง ไม่เห็นมีอะไร แต่จริงๆ แล้วมันมีรายละเอียดเยอะมาก ตั้งแต่ตัดแต่งยังไงให้ต้นไม้มีสุขภาพดี ตัดแต่งยังไงให้คนที่ขึ้นไปตัดแต่งปลอดภัย ตัดแต่งยังไงให้บริเวณโดยรอบต้นไม้ปลอดภัยด้วย” ฟางเล่าถึงอาชีพของเธอในมุมที่คนทั่วไปไม่เคยรู้
ตัวอย่างหนึ่งเช่นการตัดกิ่งก็มีรายละเอียดที่ต้องใส่ใจ การตัดกิ่งนี้ไม่ใช่ว่าจะตัดตรงไหนก็ได้ แต่ต้องตัดที่ตำแหน่งคอกิ่ง (ซึ่งก็คือบริเวณโคนกิ่งหรือรอยต่อระหว่างกิ่งย่อยกับกิ่งหลัก) เพราะตรงนั้นมีเนื้อเยื่อเจริญที่สร้างเนื้อไม้มาหุ้มปิดแผลที่เราตัดได้ แต่ถ้าหากเราตัดที่ตำแหน่งอื่นแผลจะปิดยาก ทำให้มีความเสี่ยงต่อปลวกและเชื้อราซึ่งจะกัดกินเนื้อไม้ลึกเข้าไปเรื่อยๆ ทำให้ต้นไม้สุขภาพแย่ลงและอาจหักโค่นได้ง่าย
ส่วนการบั่นยอดเพื่อลดความสูงก็ต้องมีเทคนิค ถ้าตัดมั่วๆ ก็จะเกิดกิ่งกระโดงเต็มไปหมด (กิ่งเล็กๆ แนวตั้งฉากกับพื้นดิน งอกจากตอที่ถูกตัด) หรือกรณีที่ต้นไม้สุขภาพไม่ดี ก็อาจลงเอยด้วยการผุและตาย
แม้แต่องศาการตัดก็สำคัญ อย่างเช่นการบั่นยอดก็ไม่ควรตัดในแนวระนาบ แต่ต้องเฉียงลงเล็กน้อยเพื่อให้น้ำฝนไหลลงได้ และต้องเหลือคอกิ่งไว้เสมอเพื่อให้แผลปิด
“สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างความเข้าใจว่าต้นไม้ไม่ใช่ศัตรู เราตัดแต่งให้ต้นไม้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นได้ ไม่ใช่โค่นทิ้งอย่างเดียว ข้อดีของการมาในครั้งนี้ คือคนในพื้นที่ได้มาเรียนรู้ด้วย ว่าการตัดแต่งต้นไม้อย่างถูกวิธีมันดียังไง และคุณจะทำอะไรเองได้บ้างหลังจากเรากลับไปแล้ว พอเขาได้มาเห็นการตัดแต่งของเรา เขาก็รู้ว่าตัดแต่งให้สวยได้” ฟางสรุปโดยมีต้นตะเคียนใหญ่ตรงหน้าเป็นสิ่งยืนยัน
ฃ
ความร่วมมือครั้งสำคัญ
ภาพที่น่ารักอย่างหนึ่งของปฏิบัติการช่วยเหลือต้นไม้ในครั้งนี้ คือไม่ได้มีแค่รุกขกรมาทำงานกับต้นไม้เท่านั้น หากยังมีความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ มากมาย เริ่มตั้งแต่วัดและโรงเรียนหลายแห่งในตัวเมืองนครฯ ที่เห็นความสำคัญและอนุญาตให้ทีมรุกขกรเข้าไปตัดแต่งต้นไม้ คนพื้นที่ที่ผลัดกันเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหาร รวมถึงวัดที่ส่งปิ่นโตอาหารกลางวันมาสนับสนุนในหลายๆ มื้อ ไปจนถึงเทศบาลที่ส่งรถกระเช้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการตัดแต่งบนที่สูง
อีกทั้งสมาคมรุกขกรรมแห่งประเทศไทยที่ส่งรุกขกรอาสาฯ มาช่วยงาน ส่วนค่าใช้จ่ายในการทำงานก็ได้ธนาคารเกียรตินาคินเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนค่าที่พักและค่าเดินทางของทีมงาน ส่วนทางบริษัทรุกขกรเองก็ยกทีมมาในฐานะจิตอาสา โดยทางบริษัทไม่รับค่าจ้างใดๆ แถมควักเนื้อเป็นค่าแรงทีมงานเองด้วย
“บริษัทของเราก่อตั้งมาเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ด้วยความตั้งใจที่อยากจะให้อาชีพรุกขกรเป็นที่แพร่หลาย คนทั่วไปรู้จัก และเราก็ตั้งใจจะทำงานจิตอาสาทุกครั้งที่มีโอกาส เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างขึ้นด้วย เราอยากเห็นต้นไม้ในเมืองมีสุขภาพดี” ละเอียด แพนพัฒน์ ผู้จัดการบริษัทรุกขกรกล่าว
นอกจากนั้น ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ซึ่งนำโดย ดร.สุรศักดิ์ ชูทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ คณะเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรากของต้นไม้และเป็นผู้ทำฐานข้อมูลต้นไม้สาธารณะในเมืองนครฯ ก็ได้พานักศึกษานับสิบคนมาเรียนรู้งานด้านรุกขกรด้วย
ท่ามกลางแสงแดดยามเย็นที่ลอดผ่านใบไม้ คุณหมอบัญชาบอกเล่าด้วยความหวังว่า ภารกิจครั้งนี้ไม่ใช่แค่เพียงทีมรุกขกรมาแล้วจากไป แต่ในอนาคตจะมีการถอดบทเรียนเพื่อดูแลต้นไม้ใหญ่เตรียมรับภัยพิบัติ รวมทั้งจัดอบรมเจ้าหน้าที่ของเทศบาล เพื่อให้เมืองนครศรีธรรมราชเป็นต้นแบบแห่งการดูแลรักษาต้นไม้อย่างถูกวิธี
“การมาของปาบึกรอบนี้ทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการนำร่องของ 4 ภาคส่วน คือผู้ปลูกต้นไม้ สถาบันการศึกษา องค์การส่วนท้องถิ่น และทีมรุกขกร ซึ่งทางรองนายกเทศมนตรีก็บอกว่าเรื่องนี้สำคัญ เพราะที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ก็มีแค่ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เวลาที่ได้รับแจ้งว่าไม้จะล้มทับเขาก็แค่มาตัดกิ่งโดยไม่มีทักษะอะไร แล้วต้นไม้ก็เสียหาย ทางเทศบาลก็อยากเตรียมการอบรมเพื่อให้เกิดหน่วยที่ดูแลต้นไม้อย่างถูกต้องต่อไป
“ในฐานะคนรักต้นไม้ ความหวังแรกคืออยากเห็นต้นไม้ของเรามีสุขภาพดี แข็งแรงมั่นคง ถ้าบ้านเราทำได้ วัดทำได้ โรงเรียนทำได้ ก็จะมีกรณีศึกษาว่าเรารักษาต้นไม้ใหญ่ไว้ได้ และความหวังอย่างที่สองคือ เทศบาลกับสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลเกิดการจับมือกันเพื่อพัฒนาหลักสูตรการสร้างรุกขกรส่วนท้องถิ่น เมื่อมีปัญหาก็จัดการกันเองได้ คนที่ปลูกต้นไม้อย่างเราก็ได้พึ่งพา”
ต้นไม้ใหญ่ที่ได้รับการตัดแต่งอย่างสวยงามตรงหน้า น่าจะกำลังกระซิบบอกกับเราว่า หากพวกเราดูแลต้นไม้อย่างถูกวิธี ต้นไม้ใหญ่นี้ก็จะดูแลเราอย่างดีเช่นกัน
- ฮิต: 5777